บทสัมภาษณ์ - วงการการ์ดเกรดไทย
ปัจจุบันวงการการ์ดเกรดหน้าตาเป็นอย่างไร? อนาคตจะไปทางไหน? มาติดตามการสัมภาษณ์จากทั้งสองท่านผู้เชี่ยวชาญกันครับ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการ์ดที่เราสะสมกันอยู่นี้ผลิตมาจากกระดาษ และกระบวนการพิมพ์ การตัด การบรรจุใส่ซอง ล้วนมีโอกาสเกิดตำหนิเล็ก ๆ น้อย ๆ (หรือใหญ่!) ได้เต็มไปหมด ดังนั้นการ์ดที่ถูกพิมพ์ออกมาสภาพไร้ที่ติจึงเป็นสิ่งหายากและทำให้การ์ดเหล่านี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา การประเมินสภาพ หรือ “เกรด” โดยบริษัทที่ได้รับการยอมรับในสังคมนักสะสมการ์ดจะมีข้อดีมากมาย เช่น
1.ช่วยให้การซื้อ-ขายกันมีความชัดเจน โปร่งใส่ เพราะมีการประเมินสภาพโดยบุคคลที่สามที่เป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับ เท่านี้เราก็จะสามารถตั้งราคาที่เหมาะสมกับสภาพการ์ดของเราได้ ส่วนผู้ซื้อก็จะสามารถมั่นใจในการ์ดที่ตนเองเลือกซื้อได้มากยิ่งขึ้น
2.ช่วยปกป้องการ์ดของเราเพื่อการเก็บสะสมในระยะยาว ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี กี่มือ การเก็บการ์ดในกรอบ (slab) ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีมาก หรืออาจจะดีที่สุดก็เป็นได้
วันนี้เราจะมาพูดคุยกันในประเด็นที่น่าสนใจของวงการการ์ดเกรด พร้อมการตอบคำถามและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่านผ่านบทสัมภาษณ์กันครับ ท่านแรก คุณเอ๊กซ์ เจ้าของบริษัท SQC -Special Quality Card- ที่เป็นผู้นำด้านการเกรดการ์ดในประเทศไทย ส่วนท่านที่สอง คุณแม็กซ์ เจ้าของเพจ Treasure-Cave ที่มีประสบการณ์รับส่งการ์ดเกรดทั้งในและต่างประเทศอย่างเต็มเปี่ยม และยังเป็นแอดมินกลุ่มตลาดการ์ดเกรด[แล้ว]-ประเทศไทยด้วยเช่นกัน ส่วนผู้สัมภาษณ์คือตัวผมเอง ชาลี เป็นเจ้าของเว็บ tcgthailand.com ตลาดซื้อ-ขาย-ประมูลการ์ดเกมแห่งแรกของประเทศไทยครับ
PART 1 – คุณเอ๊กซ์ (SQC)
ก่อนจะเข้าสู่บทสัมภาษณ์ หากใครยังไม่คุ้นเคยกับการเกรดการ์ด มีคลิปสั้น ๆ จากช่อง SQCcard ที่ผมแนะนำสองคลิปครับ:
เมื่อพร้อมแล้ว เราไปเข้าสู่บทสัมภาษณ์กับคุณเอ๊กซ์จาก SQC กันเลยครับ
ชาลี: ทาง SQC มีบริการ pre-grading เพื่อเป็นตัวเลือกในการคัดเลือกการ์ดก่อนนำไปส่งบริษัทต่างประเทศต่ออีกที แต่ในกลุ่มจะมีการโพสต์อยู่สม่ำเสมอว่าส่งการ์ดเกรด SQC ที่แม้จะไม่ได้คะแนนเต็มไปต่างประเทศก็ได้คะแนนเต็มกลับมา แบบนี้แสดงถึงความแม่นยำ (accuracy) ในการตรวจสภาพของ SQC ที่สูงมาก หมายความว่าหากวัตถุประสงค์ของนักสะสมคือการหาการ์ดสภาพสมบูรณ์ที่สุด การมาจบที่ SQC อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้วใช่ไหมครับ
คุณเอ๊กซ์: ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณทาง TCG Thailand มาก ๆ นะครับที่ให้โอกาศทาง SQC ได้มาพูดคุยกันในครั้งนี้ครับ ถ้าถามถึงในส่วนของความแม่นยำในการตรวจเช็ค ทาง SQC ใช้อุปกรณ์ที่มีความละเอียดระดับเดียวกับงานจิวเวลรี่และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ จึงทำให้มีความแม่นยำสูง แต่ในเรื่องว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดมั้ย ทางผมจะไม่บอกว่าของ SQC ดีที่สุดครับ ในส่วนนี้ต้องให้พี่ ๆ น้อง ๆ วงการการ์ดเกรดไทยเป็นคนช่วยตอบจะดีที่สุดครับ?
---
ชาลี: ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่น่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แต่เรากลับพบตำหนิจากการพิมพ์ทั้งล็อตอยู่เป็นครั้งคราว เช่น การ์ดฟอยล์ทุกใบในชุดมีรอยเส้น สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยไหมครับ แล้วการ์ดไร้ตำหนิจริง ๆ ในสถานการณ์แบบนี้มีอยู่จริงไหมครับ
คุณเอ๊กซ์: การ์ดที่มีตำหนิจากการผลิตส่วนใหญ่หากเกิดขึ้นแล้วจะเป็นทั้งล็อตครับ เช่นการตัดขอบของบางใบที่เป็นใบเดียวกันในล็อตใกล้ ๆ กันจะมีตำหนิในจุดเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นได้จากการตั้งค่าใบมีด หรือใบที่มีรอยที่ผิวการ์ดที่เป็นรอยขูดหรือขอบขนแมวบนผิวในจุดเดียวกัน ก็อาจจะเพราะตัวสายพานในล็อตนั้น ๆ ซึ่งการผลิตการ์ดส่วนใหญ่จะไม่ใช่แค่ล็อตเดียวครับ ทำให้ในการผลิตนั้นจะมีใบที่ไม่มีตำหนิออกมาแน่นอน แต่อาจจะหายากหน่อยครับ ทำให้ใบที่คะแนน 10 หรือ 10 perfect ถึงได้มีราคาที่แพงกว่าปรกติ 2-10 เท่าเลยก็เป็นไปได้ครับ
---
ชาลี: เวลาเกรดการ์ดใส่กรอบ (slab) แล้ว จะช่วยปกป้องการ์ดเราได้ดีกว่าใส่ sleeve แล้วใส่เข้าแฟ้มไหมครับ เพราะว่าเป็นการเก็บในสภาพแวดล้อมปิดเหมือนกัน
คุณเอ๊กซ์: ต่างกันครับ เพราะการเก็บเข้าแฟ้มยังมีโอกาสเกิดความชื้นได้ครับ แต่การซีล slab โดยใช้เครื่อง ultrasonic ในการอัดกรอบ คือการทำให้ตัวอะคริลิคละลายติดเข้าหากันเลยทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปได้ครับ หรือถ้าเอาใกล้เคียงการเข้ากรอบ slab คือการเก็บในแฟ้มกาว (ที่เอาไว้เก็บอัลบั้มรูป) ซึ่งเป็นการใช้ตัวแผ่นใสที่มีกาวปิดทับทุกด้านไม่มีอากาศเข้าออกได้เหมือนกันครับ แต่ในส่วนของความแข็งแรงหรือสามารถนำไปตั้งโชว์ได้โดยไม่ต้องกังวล อันนี้จะสู้การเข้ากรอบ slab ไม่ได้เลยครับ
---
ชาลี: การเกรดกับ SQC มีอะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะบ้างครับ ที่แม้แต่บริษัทที่เป็นที่นิยมระดับต้น ๆ ของโลกอย่าง PSA, BGS, CGC ก็ยังไม่มี
คุณเอ๊กซ์: เอาเป็นว่าขอบอกถึงจุดเด่นของ SQC ดีกว่าครับ หลัก ๆ เลยมี 4 ข้อครับ:
1.ไม่ต้องรอนานเป็นเดือน ๆ การส่งไปต่างประเทศอย่างต่ำ ๆ ก็มี 1 เดือนซึ่งแพงสุด ๆ และถ้าส่งแบบราคาปรกติอาจจะรอ 3-4 เดือนก็เป็นไปได้ และที่สำคัญคือมีความเสี่ยงในการสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งเคสแบบนี้ก็มีให้เห็นกันอยู่เรื่อย ๆ ครับ
2.การตรวจสอบรูปตำหนิของการ์ดได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากทุกใบเราตรวจจริง มีข้อมูลให้เช็คได้จริงครับ ใน reddit มีการตั้งกระทู้ถึงการถ่ายรูปตำหนิการ์ดของ SQC ว่ามันชัดเจนและน่าสนใจสำหรับผู้ที่ส่งเกรดครับ ต้องบอกว่า ในจุดนี้ทำให้การทำงานในแต่ละขั้นตอนอาจจะล่าช้าทำให้ช่วงแรก ๆ ของการเปิดรับเกรด ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ที่สนใจได้ทันครับ ต้องขออภัยหลาย ๆ ท่านที่เคยอยากส่งเกรดช่วงเปิดบริการใหม่ ๆ ด้วยนะครับ แต่ในขณะนี้ทาง SQC ได้มีการเพิ่มจำนวนทีมงานมากขึ้นเพื่อรองรับในจุดนี้แล้วครับ
3.ตัวบริการที่หลากหลาย ทั้งการทำให้ตัวป้าย (label) มีสีสันสวยงามน่าเก็บสะสม หรือการ pre-grade เองก็เป็นบริษัทแรกในโลกที่เปิดให้บริการนี้ครับ ซึ่งตอนนี้บริษัทของต่างประเทศบางแห่งก็เริ่มมีให้บริการกันบ้างแล้วครับ
4.ราคาที่เหมาะกับคนไทย ซึ่งอย่างที่ทราบกันว่าการส่งไปต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายที่สูง ยิ่งหากต้องการให้เกรดเสร็จเร็วยิ่งแพงมาก ๆ ค่าใช้จ่ายต่อรอบตีเฉลี่ยแพ็กเกจถูก ๆ ก็ตกใบละประมาณ 1,000 บาท ซึ่งของ SQC เองเริ่มที่ใบละ 370 บาท หากส่งจำนวนเยอะจะเหลือใบละ 270 บาทเท่านั้นครับ และยังมีโปรโมชั่นพิเศษออกมาตลอดเพื่อนักสะสมด้วยครับ
---
ชาลี: สำหรับการ์ดเกมอย่าง Magic: The Gathering ที่สามารถใช้การ์ดเกรดแล้วลงแข่งอย่างเป็นทางการได้ (มีกติกากำกับ) คิดว่าจะมีโอกาสที่การ์ดเกมเกิดใหม่ในอนาคตจะนำหลักการเดียวกันมาใช้ไหมครับ แล้วคิดว่ากรอบการ์ดเกรด (slab) โดยทั่วไปจะมีทิศทางการพัฒนาต่อไปเพื่อให้เข้ากับการเล่นมากยิ่งขึ้นไหมครับ หรือน่าจะเป็นสิ่งรอบข้างอย่างอื่นที่จะปรับให้เข้ากับ slab เพื่อให้รองรับการนำมาใช้เล่นมากยิ่งขึ้น
คุณเอ๊กซ์: อันนี้เอาจริง ๆ ผมว่าการเกรดแล้วเอาไปเล่นมันผิดจุดประสงค์ไปหน่อยนะครับ แหะ ๆ ตรงนี้น่าจะอยู่ที่ความถนัดแล้วอะครับ (ผมว่ามันเอามาเล่นจริงไม่ได้นะ??)
---
ชาลี: ในต่างประเทศจะมีกลุ่มคนที่เน้นสะสมการ์ด misprint อยู่จำนวนนึง ตัวผมเองก็มีเก็บของโปเกมอนไทยไว้อยู่ชุดนึงที่เคยมี misprint แล้วมีการแก้ไขออกมาภายหลัง อยากทราบว่าทาง SQC รองรับการเกรดการ์ดเหล่านี้ หรือมีแผนที่จะรองรับการ์ดเหล่านี้ในอนาคตไหมครับ
คุณเอ๊กซ์: การ์ด misprint/error สามารถส่งเกรดได้ปรกติครับ อย่างที่ผ่านมา แบบชัด ๆ เลยก็ใบของโอเดนย่าที่เป็นรูป Trunks เอาดาบฟัน Mecha Freezer แต่ในใบ label เขียนชื่อว่าเป็น Cell ซึ่งล็อตหลังก็มีการแก้ไขออกมา หากมีการส่งมาเกรดจะมีระบุ (error) ใน label ด้วยครับ
---
ชาลี: ตอนนี้มีแผนสำหรับอนาคตอะไรที่อยากจะแชร์ให้ผู้อ่านบ้างไหมครับ
คุณเอ๊กซ์: ในส่วนของ road map ของ SQC มีแพลนที่จะเพิ่มในส่วนของการบริการครับ ในช่วงต้นเดือนหน้า (มีนาคม) จะมีบริการ authenticate สำหรับการ์ดโอเดนย่าครับ และที่เห็นในงาน SC Card Market ก็จะมีในส่วนของ grading comic book ครับ ตรงนี้อาจจะต้องรอติดตามดูครับ เพราะโปรเจกต์ที่วางไว้มันเยอะมาก ๆ ต้องดูความเหมาะสมในการเปิดตัวในแต่ละช่วงด้วยครับ
---
ชาลี: สุดท้ายนี้มีอะไรอยากเล่าเพิ่มเติมให้กับผู้อ่านไหมครับ
คุณเอ๊กซ์: อันนี้ขอเสริมข้อมูล ในส่วนของที่หลาย ๆ ท่านถามมานะครับ ในเรื่องของการตรวจสอบลายเซ็น หรือการ authenticate การ์ดชนิดอื่น ๆ ว่าทำไมทาง SQC ถึงไม่มีบริการนี้ ขออธิบายว่า ทาง SQC เป็นบริษัทที่ยึดถือความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ครับ ในส่วนของลายเซ็น การที่จะให้คะแนนหรือตรวจสอบลายเซ็นได้ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองเป็นผู้ตรวจและยืนยัน ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ที่จะสามารถมาตรวจสอบได้ครับ นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้ SQC ไม่สามารถให้คะแนนลายเซ็นหรือตรวจลายเซ็นแท้ได้ครับ จะทำได้แค่การตรวจสภาพการ์ดเท่านั้นครับ
รวมถึงการ ยืนยันการ์ดแท้ (authenticate) ก็เช่นเดียวกันครับ ยกตัวอย่างการตรวจกระเป๋าแบรนด์เนมและออกใบรับรองได้ จะต้องเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองจากทางผู้ผลิตหรือผู้มีอำนาจในแบรนด์นั้น ๆ เท่านั้นถึงจะออกใบรับรองได้ ซึ่งปรกติในการเกรดของ SQC จะมีการตรวจแท้-ปลอมอยู่แล้วครับ หากเป็นการ์ดเลียนแบบหรือมีแนวโน้มว่าไม่ใช่ของลิขสิทธิ์จะไม่รับเกรดครับ แต่ในส่วนของการ authenticate เพียว ๆ ที่ไม่ได้ออกเกรด จะเท่ากับการออกใบยืนยัน อันนี้ต้องขออนุญาตและขอข้อมูลทางบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้สิทธิ์ทาง SQC เป็นผู้ตรวจและออกใบยืนยันอย่างถูกต้องเท่านั้นครับ ในขณะนี้ที่ ได้รับอนุญาตแล้วจะมีโอเดนย่า, การ์ดฟุตบอลไทยบริษัท Massaman, และจากทางตัวแทนจำหน่าย วันพีซการ์ดเกมส์และยูกิโอ ก็ได้ทำการขออนุญาตเรียบร้อยแล้วครับ ในส่วนของการ์ดซีรีส์อื่น ๆ น่าจะค่อย ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ครับ
สุดท้ายนี้ อยากฝากพี่ ๆ น้อง ๆ นะครับ วงการการ์ดไม่ได้ใหญ่ อยากให้รัก ๆ กันไว้ ทำให้สังคมน่าอยู่ ทำให้คนวงนอกหันมาสนใจและอยากเข้ามามีส่วนร่วมกันดีกว่านะครับ อยากเห็นทุกท่านมีความสุขที่ได้เก็บ ได้เล่นการ์ดครับ?
---
Intermission
มาขั้นรายการด้วยคลิปที่น่าสนใจอีกคลิปจากช่อง Daddy ARM’s Collectibles ที่มีการทดลองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของกรอบการ์ดเกรด (slab) ในการป้องกันแสง UV ครับ ผมคิดว่าองค์ความรู้ที่ถูกนำเสนอในคลิปนี้เป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับนักสะสมและวงการการ์ดเกมมากครับ สามารถดูคลิปได้ที่:
กรอบพลาสติก (Slab) การ์ดเกรด ป้องกัน UV ได้จริงมั้ย?
เท่านี้ก็น่าจะเห็นถึงความสามารถในการปกป้องการ์ดที่มีมูลค่าของเราจากการเกรดได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นนะครับ สามารถป้องกันได้แม้กระทั่ง UV ที่เราจับต้องไม่ได้เลยทีเดียว
---
PART 2: คุณแม็กซ์ (Treasure-Cave)
สำหรับในครึ่งหลังเรามาเปลี่ยนมุมมองกันบ้างครับ ลองมาคุยกับคุณแม็กซ์จาก Treasure-Cave กันครับ
ชาลี: เราจะเลือกการ์ดเพื่อส่งเกรดได้อย่างไรครับ นอกจากการส่องสภาพแล้ว เราต้องคำนึงถึงอย่างอื่นอีกไหมครับ
คุณแม็กซ์: ถ้ามุมผม หลัก ๆ เลยคือดู centering อันไหนเอียง แยก ๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยมาดูตำหนิสภาพอีกทีนึงครับ แล้วจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น centering ค่อนข้างเป็นตัวบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเราควรส่งเกรด บริษัทไหน เพราะแต่ละที่ grading scale หรือ standard นั้นค่อนข้างแตกต่างกันครับ
---
ชาลี: บริษัทเกรดแต่ละบริษัทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ ทั้งในและต่างประเทศ เราจะเลือกอย่างไรดีครับ
คุณแม็กซ์: แต่ละที่ scale แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจนครับ ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ หลัก ๆ เลยทุกครั้งที่มีคนเข้ามาถามความเห็นเรื่องส่งเกรดที่ไหนดี มักจะได้คำตอบจากผมว่า "เอาอันที่ชอบ" หรือ "เลือกกรอบที่ชอบ" 5555 ส่วนถ้าเลือกแบบเป็นจริงเป็นจัง ผมยังมอง PSA ว่า safe and easy ครับ safe ในที่นี้คือได้ 10 ง่าย ส่วน easy คือ easy to sell ครับ
---
ชาลี: เมื่อเกรดออกมาแล้ว ถ้าไม่ได้คะแนนเต็ม การ์ดของเราจะยังมีมูลค่าอยู่ไหมครับ
คุณแม็กซ์: การ์ดมีมูลค่าในตัวมันเองอยู่แล้ว ตัวเลขเกรดเป็นตัว trigger (กระตุ้น) ทางอารมณ์ เท่านั้น เหมือนถ้าจะเปรียบเทียบ sports card ที่มี POP 1 of 1 แต่ได้เกรด 7 มา ยังไงเสียก็ยังมีมูลค่าอยู่ดี ไม่ว่าทางด้านราคาหรือจิตใจครับ ส่วน TCG มันมี ราคา raw card เป็นตัวเทียบมูลค่าอยู่แล้ว อันนี้ก็ต้องมานั่งดูอีกทีครับว่าการ์ดที่เราถืออยู่เป็น short-term หรือ long-term holding
---
ชาลี: เราจะตั้งราคาการ์ดเกรดของเราอย่างไรดีครับ มีหลักการคร่าว ๆ ไหมครับ และนอกจากเกรดที่ได้แล้ว มีอะไรส่งผลต่อราคาของการ์ดเกรดอีกบ้างครับ
คุณแม็กซ์: การตั้งราคาการ์ดเกรดคร่าว ๆ ในไทย ถ้าเป็นการ์ดเฉพาะที่มีในไทย ผมจะเอาราคา raw + ค่าเกรด + ค่าตัวเลข เป็นจุดตั้งครับ ที่เหลือก็แล้วแต่คนพอใจจะขายว่าสะดวกใจที่เท่าไหร่ เพราะพอตั้งราคาสูงไป คนขายจะพอทราบเองว่ามันถูกหรือแพงไป ส่วนมีอะไรที่มีผลกระทบต่อราคาไหม นั่นคือราคา raw card และกระแสนิยมที่มันขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แล้วครับ
---
ชาลี: ตั้งแต่การเกรดการ์ดเริ่มเกิดขึ้นในไทยประมาณปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ตลาดเติบโตอย่างไรบ้าง และมีทิศทางในอนาคตอย่างไรบ้างครับ
คุณแม็กซ์: เติบโตมั้ย ผมว่าเติบโต อยู่ในจุดที่ใครก็รู้จักแล้วว่า ส่งในไทยต้องไปที่ไหน ส่งไปต่างประเทศต้องไปที่ไหน แต่ถ้าถามว่าอยู่ในช่วงไหน ก็ยังอยู่ในช่วง beginner มันมีองค์ประกอบอีกมากมายครับที่เรายังดันไปได้อีก เช่น เรื่องระบบความคิดของคนซื้อ-ขาย และการตลาดต่าง ๆ เรายังคงติดภาพ ลด ตัด ออก ซึ่งเป็นนิสัยการซื้อ-ขายปกติอยู่แล้วในประเทศเรา สิ่งที่เติบโตคือสายเกรดแล้วซิ่ง สิ่งที่ผมไม่เห็นเพิ่ม คือ long-term holder ซึ่งพอเข้าใจได้ด้วยสภาพเศรษฐกิจกับค่าเงินที่แตกต่างกันซะเหลือเกิน
---
ชาลี: ในกลุ่มต่างประเทศ จะมีวลี “Buy the card, not the grade” ให้เห็นอยู่ตลอดเพื่อสื่อว่าเวลาเลือกซื้อ ให้ดูการ์ดที่อยู่ตรงหน้าเรา แล้วตัดสินใจซื้อจากการเลือกการ์ดใบนั้น ไม่ใช่การซื้อการ์ดคะแนนเต็มเพียงเพราะมันได้รับคะแนนเต็ม วลีนี้อาจจะเหมาะสมกับบริบทการซื้อ-ขายการ์ดที่เกรดจาก PSA หรือ BGS ที่ใช้คนเกรด และไม่มีหลักฐานการประเมินประกอบ ในประเทศไทยเรา SQC วางรากฐานที่แข็งแรงในการแสดงตำหนิที่ตรวจพบบนเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้อย่างง่ายดาย แบบนี้วลีดังกล่าวจะยังใช้ได้ในบริบทของประเทศไทยไหมครับ หรือมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรครับ
คุณแม็กซ์: ผมว่าตลาดในบ้านเรายังต้องใช้เวลาอีกหลาย 10 ปี ที่จะไปอยู่จุด ๆ นั้นครับ ตราบใดที่นักสะสมหรือทั้งตลาดบ้านเรามอง value ของ cash มากกว่า card หรือ asset ที่เราถืออยู่
---
บทสรุป
นี่ก็จะเป็นสองมุมมองในเรื่องของวงการการ์ดเกรดไทยครับ ทั้งในมุมมองของบริษัทเกรด และในมุมมองของผู้ส่งเกรดและแอดมินกลุ่มซื้อ-ขายการ์ดเกรด จะเห็นว่าความจริงแล้ว ทาง SQC มีสิ่งที่เรียกว่าเป็น pioneer อยู่มาก และกำลังอยู่ระหว่างการก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วย value ของ brand ที่สร้างขึ้นมา อาจจะส่งผลให้มี long-term holder ที่เชื่อมั่นในชื่อของ SQC เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่คุณแม็กซ์กำลังมองหาอยู่ก็เป็นได้ ด้วยราคาการเกรดที่เข้าถึงได้มากกว่าการส่งออกไปต่างประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขอขอบคุณคุณเอ๊กซ์และคุณแม็กซ์มากเลยครับที่ให้โอกาสเราได้มาสัมภาษณ์กันในครั้งนี้!
สุดท้ายนี้ ผมต้องไม่พลาดที่จะบอกว่าบนเว็บไซต์ tcgthailand.com ของเราเองก็รองรับการซื้อ-ขาย-ประมูลการ์ดเกรดเช่นกันนะครับ และการขายทั้งหมดจะถูกบันทึกประวัติราคาและแสดงรายการว่าเป็นการ์ดเกรดแล้วด้วยครับ แปลว่าการ์ดเกรดเองก็จะสามารถมีประวัติราคาอ้างอิงได้เช่นกันครับ! ถ้าใครเริ่มต้นไม่ถูก ต้องการความช่วยเหลือ หรือมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อ ทักเพจของเราเข้ามาได้เลยนะครับ เรายินดีให้ความช่วยเหลือ หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเสมอครับ